ภาวะสายตายาวตามวัย ภาวะที่มักเกิดกับคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป ตามชื่อที่เรียก สายตายาวตามวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้กับทุกคนเมื่อมีอายุใกล้ 40 ปีหรือมากกว่านั้น
สายตายาวตามวัยคืออะไร ทำไมถึงพบเมื่ออายุมากขึ้น ?
ภาวะสายตายาวตามวัย คือ ภาวะที่ความสามารถของสายตาในการเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ลดลง เกิดขึ้นจากการที่เลนส์ตาแข็งตึงขึ้นและกล้ามเนื้อตามัดเล็กที่อยู่รอบ ๆ เลนส์ตาเริ่มมีการเสื่อมสภาพลงตามวัย ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มกำลังของเลนส์ให้พองขึ้นออกเป็นเลนส์นูนเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพได้เหมือนเดิม จึงไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน
อาการของภาวะสายตายาวตามวัยจึงเกิดเฉพาะเวลามองใกล้เท่านั้น แต่ในระยะการมองไกลยังสามารถมองได้ปกติเช่นเดิม เนื่องจากการมองไกลไม่จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อนี้ในการเพ่งมอง
“หลายคนมีความเชื่อว่าหากเป็นผู้มีค่าสายตาสั้นอยู่แล้วเมื่อถึงช่วงวัยที่เริ่มมีภาวะสายตายาวตามวัยจะสามารถนำค่าสายตาสั้นและยาวมาบวกลบกัน จนบาลานซ์กลายเป็นสายตาปกติได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ค่าสายตาไม่สามารถนำมาหักลบกันได้ แต่จะเกิดเป็นค่าสายตาสั้นและยาวร่วมนั่นเอง”
วิธีสังเกตตัวเองง่าย ๆ ว่าเราเริ่มเข้าสู่ภาวะสายตายาวตามวัยหรือยัง
เบื้องต้นสังเกตได้จากพฤติกรรม จากเดิมที่เคยอ่าน เขียนหนังสือที่ระยะห่างจากตา 1 ฟุต แล้วชัด แต่ตอนนี้กลับไม่ชัด ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือออก หรืออาจต้องหรี่ตาให้เล็กลง เพื่อช่วยให้อ่านหนังสือชัดขึ้น และในบางคนอาจมีการเคืองตา ปวดตา ปวดศีรษะ จากการพยายามเพ่งร่วมด้วย
ทางเลือกสำหรับสายตายาวตามวัย ให้ชีวิตง่าย ไร้รอยต่อทุกระยะ
การมองเห็น
เลนส์หลายระยะไร้รอยต่อ หรือ Progressive Lenses มักเรียกกันว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ โดยเลนส์โปรเกรสซีฟเป็นเลนส์ที่ออกแบบเฉพาะบุคคลช่วยแก้ไขระยะการมองเห็นทั้งใกล้ กลาง และไกล โดยไร้รอยต่อเชื่อมของเลนส์แตกต่างจาก Bifocal ที่ยังมีรอยต่อเชื่อมระยะ 2 ระดับให้เห็นอยู่
หรือในคนที่มีภาวะสายตาสั้นมาก่อนหรือมักจะใช้เลนส์ชนิดโปรเกรสซีฟ เพื่อช่วยปรับการมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้-ไกล
ภาวะสายตายาวตามวัยเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ยากที่จะหลีกเลี่ยงเมื่อถึงเวลา แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการ คอยตรวจสุขภาพสายตาสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาที่สายตาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะสายตายาวตามวัย ให้เริ่มมองหาเลนส์ที่ช่วยแก้ไขภาวะสายตายาวให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและเหมาะสมกับค่าสายตาตนเองที่สุด