สายตาสั้น หรือ Myopia คือปัญหาทางสายตาที่มีภาวะผิดปกติ ทำให้มองวัตถุในระยะไกลไม่ชัด แต่ในระยะใกล้ยังสามารถมองเห็นได้ชัด สาเหตุหลัก ๆ มักมาจากความผิดปกติของดวงตา เช่น ดวงตามีขนาดของลูกตาที่ยาวมากเกินไป ส่งผลให้ระยะระหว่างกระจกตาและจอตามีความยาวกว่าปกติ ทำให้เกิดการหักเหแสงของกระจกตาผิดเพี้ยน หรือในบางรายมักเกิดจากกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้มีกำลังหักเหแสงมากเกินไป จึงส่งผลต่อการรับภาพ ทำให้เกิดอาการตาเบลอ ตาพร่า มองไม่ชัด โดยปัญหาสายตาสั้นสามารถเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาสายตาอย่างอื่นได้เช่นกัน เช่น สายตาเอียง สายตายาว ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาและวิธีรักษาสายตาสั้นให้เลือกอยู่หลากหลายวิธี
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะสายตาสั้น
สายตาสั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองจากความผิดปกติของลักษณะดวงตา การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือแม้กระทั่งจากพฤติกรรมการใช้สายตาที่ส่งผลให้สายตาสั้นมากขึ้น
o เกิดจากภาวะความผิดปกติของดวงตา ขนาดของลูกตาหรือกระบอกตามีขนาดยาวมากกว่าปกติ ทำให้การหักเหของแสงของกระจกตาผิดปกติ เนื่องจากระยะทางระหว่างกระจกตาและจอตามีความยาวมากเกินไป
o เกิดจากดวงตามีกระจกตาที่โค้งกว่าปกติ ซึ่งกระจกตามีหน้าที่ช่วยในการหักเหแสง เมื่อกระจกตามีความโค้งที่ผิดไปจากเดิม ทำให้การหักเหของแสงมากขึ้น ส่งผลให้แสงที่ตกกระทบวัตถุที่ด้านหน้าของจอตา ไม่โฟกัสที่จอตา ผู้ที่สายตาสั้นจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน แต่กลับมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ไม่ชัดและเบลอนั่นเอง
o เกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ ภาวะสายตาสั้นสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม จึงมีแนวโน้มในการเกิดปัญหาสายตาสั้นได้มากกว่าปกติ
o เกิดจากการทำกิจกรรมที่ใช้สายตามาก ๆ อยู่บ่อย ๆ เช่น อ่านหนังสือ ใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือกิจกรรมที่ต้องจ้องมองในระยะใกล้เป็นระยะเวลานาน ๆ
o เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ในวัยเด็กมีการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เนื่องจากแสงตามธรรมชาติมีส่วนช่วยกระตุ้นสาร Dopamine ในสมอง ทำให้การเจริญเติบโตของลูกตาไม่ผิดรูป เด็กที่เล่นนอกบ้านเป็นประจำจะเสี่ยงสายตาสั้นได้น้อยกว่าหรือช้าลงนั่นเอง
เมื่อเริ่มสังเกตได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะสายตาสั้นควรทำอย่างไร
ควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวัดค่าสายตา เป็นการตรวจสอบการมองเห็นเบื้องต้น เพื่อวัดระดับค่าสายตา ว่ามีภาวะสายตาสั้นอยู่ในระดับใด และมีภาวะสายตาผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมักจะมีภาวะสายตาเอียงร่วมด้วย
ซึ่งภาวะสายตาสั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับด้วยกัน
o ภาวะสายตาสั้นระดับต่ำ คือระดับความสั้นของสายตาที่มีค่าระหว่าง -0.25 ถึง -3.00 D ถือเป็นภาวะสายตาสั้นปกติไม่ซับซ้อน สามารถเลือกใช้เลนส์ชั้นเดียวที่เหมาะกับค่าสายตา ในการแก้ไขภาวะสายตาสั้นได้
o ภาวะสายตาสั้นระดับสูง คือระดับความสั้นของสายตาที่มีค่ามากกว่า -6.00 D ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นที่มีค่าสายตาสูงมักมีปัญหาสายตาที่ซับซ้อน อาจมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วยได้ จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาเป็นผู้ดูแลและเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตาเป็นกรณีพิเศษ
การแก้ไขและรักษาภาวะสายตาสั้น
แต่ไม่ต้องกังวล เพราะในปัจจุบันมีวิธีการแก้ไขและรักษาภาวะสายตาสั้นหลากหลายวิธี สามารถทำได้ทั้งวิธีแก้ไขชั่วคราวและรักษาได้อย่างถาวร
o สวมใส่แว่นตา โดยเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตาในการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นหากมีค่าสายตาสั้นเริ่มต้นไม่สูงมากหรือมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วยสามารถเลือกใช้เลนส์ชั้นเดียว (Single lens) ได้ โดยเลนส์ชั้นเดียวเป็นเลนส์ที่มีกำลังของสายตาค่าเดียวทั่วทั้งชิ้นเลนส์ สามารถแก้ไขค่าสายตา สั้นและเอียง เหมาะสำหรับทุกช่วงวัย
แต่หากมีค่าสายตาสั้นค่อนข้างมากและมีสายตาเอียงร่วมด้วย เลนส์จะมีความหนามากขึ้นตาม อาจจำเป็นต้องเลือกเลนส์ย่อบางเพื่อช่วยให้น้ำหนักของเลนส์น้อยลง บางและเบาให้สวมใส่สบายตามากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ภาพที่มองเห็นคมชัดตรงกับความจริงมากที่สุด
o สวมใส่คอนแทคเลนส์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้มีปัญหาสายตาสั้นนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก ไม่ต้องคอยพกแว่นสายตาใส่ให้รู้สึกเทอะทะ สามารถใส่ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างได้อย่างสะดวกสบาย แต่การสวมใส่คอนแทคเลนส์เองก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน ผู้สวมใส่ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันนานเกิน 8 ชั่วโมง ไม่ควรใส่นอนและควรรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากดวงตาเป็นบริเวณส่วนที่บอบบางอาจเกิดการระคายเคืองหรือติดเชื้อได้
o การทำเลสิก เป็นการรักษาสายตาสั้นแบบถาวร โดยการปรับค่าสายตาด้วยการยิงเลเซอร์ที่กระจกตา เพื่อตกแต่งกระจกตาให้มีความโค้งเห็นภาพได้คมชัดเป็นปกติ ข้อจำกัดของการทำเลสิกก็คือผู้ที่เข้ารับการรักษาจะต้องเป็นผู้ที่มีกระจกตาที่หนาเพียงพอสำหรับการทำเลสิกได้